ข้อเขียนวอยนิช (อังกฤษ: Voynich manuscript) เป็นหนังสือประกอบภาพที่ยังไม่มีใครสามารถแปลความหมายได้ ซึ่งเชื่อกันว่าได้เขียนขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15 หรือ 16ผู้ประพันธ์ เนื้อหา และภาษาที่ใช้ในข้อเขียนนี้ยังคงเป็นปริศนาจนถึงปัจจุบัน
ข้อเขียนวอยนิชได้รับการศึกษาจากนักรหัสวิทยา ซึ่งรวมถึงผู้เชี่ยวชาญผู้มีชื่อเสียงของสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรมาตลอดนับตั้งแต่ค้นพบหนังสือเล่มนี้ แต่ก็ไม่เคยมีใครสามารถแปลเนื้อหาได้แม้แต่ส่วนเดียว ซึ่งทำให้ข้อเขียนวอยนิชมีชื่อเสียงอย่างมากในประวัติศาสตร์ของเรื่องลึกลับ แต่ก็มีทฤษฏีว่าหนังสือเล่มนี้เป็นเพียงของปลอมซึ่งเขียนด้วยสัญลักษณ์ที่ไม่มีความหมายใด ๆ เลยเช่นเดียวกัน
หนังสือเล่มนี้ได้รับการตั้งชื่อตามวิลฟริด เอ็ม. วอยนิช (อังกฤษ: Wilfrid M. Voynich) ผู้ค้าหนังสือเชื้อสายโปลลิชอเมริกัน ซึ่งได้หนังสือเล่มนี้มาในปีพ.ศ. 2455 หอสมุดหนังสือและข้อเขียนหายากของมหาวิทยาลัยเยล ได้รวบรวมข้อเขียนวอยนิชไว้เป็นรหัส MS 408 และได้มีการพิมพ์จำลองเพื่อเผยแพร่ในปี พ.ศ. 2548
ข้อความในข้อเขียนวอยนิช |
เนื้อหา
จากการคาดการในปัจจุบัน ข้อเขียนวอยนิชเดิมทีมี 272 หน้า โดยแบ่งเป็น 17 ยก ยกละ 16 หน้าซึ่งหลงเหลือมาถึงทุกวันนี้ประมาณ 240 กระดาษเวลลัม เลขหน้าซึ่งคาดว่าถูกเขียนเพิ่มเข้าไปในภายหลังมีส่วนที่หายไป ทำให้เชื่อได้ว่าเมื่อวอยนิชได้หนังสือเล่มนี้มานั้นก็ได้มีหลายหน้าที่หายไปจากหนังสือแล้ว ข้อความและเส้นของภาพประกอบนั้นเขียนด้วยปากกาขนนก ภาพประกอบนั้นถูกได้รับการระบายสีหยาบๆซึ่งน่าจะเป็นการเพิ่มเติมในภายหลัง นอกจากนั้นยังมีหลักฐานที่เชื่อได้ว่าครั้งหนึ่งนั้นข้อเขียนวอยนิชเรียงหน้าแตกต่างจากทุกวันนี้ข้อความในหนังสือนั้นเขียนจากซ้ายไปขวาโดยข้อความทั้งหมดจะค่อนมาทางขวา เนื้อหาส่วนที่ยาวจะแบ่งเป็นย่อหน้าซึ่งบางครั้งจะมีเครื่องจุดอยู่ด้านซ้ายด้วย ไม่มีเครื่องหมายวรรคตอนที่สามารถเห็นได้ชัดเจน ลักษณะความต่อเนื่องของข้อความที่ปรากฏในข้อเขียนวอยนิชมีลักษณะที่ลื่นไหลซึ่งบอกว่าผู้ประพันธ์เข้าใจเนื้อหาที่ตนเขียนดี และไม่มีลักษณะว่ามีอักษรใดที่ผู้ประพันธ์ต้องใช้ความคิดคำนวณก่อนจะเขียนลงไป
ข้อความในข้อเขียนวอยนิชประกอบด้วยอักขระเดี่ยวประมาณ 170,000 ตัวอักษร ซึ่งอักขระส่วนใหญ่มีลักษณะง่ายๆซึ่งเขียนโดยการลากเส้นเพียงหนึ่งหรือสองครั้ง แม้จะมีการถกเถียงว่าอักขระบางตัวนั้นต่างกันหรือไม่ แต่มีตัวอักษร 20-30 ตัวที่ใช้ในการเขียนข้อความเกือบทั้งหมด โดยมีตัวอักษรจำนวนหนึ่งซึ่งแต่ละตัวปรากฏเพียงหนึ่งหรือสองครั้งในข้อเขียน ข้อความถูกแบ่งด้วยวรรคตอนออกเป็นคำที่มีความยาวแตกต่างกันประมาณ 35,000 คำ ซึ่งดูเหมือนจะเขียนตามกฎไวยากรณ์บางประการ
การวิเคราะห์ทางสถิติของข้อความในข้อเขียนวอยนิชได้แสดงถึงลักษณะที่คล้ายกับภาษาปกติ เช่นเอนโทรปีของคำนั้นมีลักษณะเหมือนข้อความภาษาอังกฤษและภาษาละตินคำบางคำนั้นปรากฏในเนื้อหาเพียงบางตอนหรือไม่กี่หน้า ในขณะที่อีกหลายคำจะปรากฏตลอดเล่ม คำบรรยายของภาพประกอบซึ่งมีอยู่นับพันนั้นแทบไม่ซ้ำกันเลย ในบทพฤกษศาสตร์นั้น คำคำแรกในแต่ละหน้าจะปรากฏในหน้านั้นๆเท่านั้น และอาจจะเป็นชื่อของพืชแต่ละชนิด
ถึงกระนั้น ภาษาที่ใช้ในข้อเขียนวอยนิชก็แตกต่างจากภาษาของยุโรปในหลายด้าน โดยทั้งข้อเขียนนั้นไม่มีคำใดที่เขียนด้วยอักขระมากกว่าสิบตัวอักษรเลย แต่ขณะเดียวกันก็มีคำที่ใช้อักขระเพียงหนึ่งหรือสองตัวน้อยมาก การกระจายตัวของอักขระในแต่ละคำยังมีลักษณะที่แปลกประหลาด โดยอักขระบางตัวจะปรากฏเป็นตัวแรกของคำเท่านั้น ในขณะที่บางตัวจะปรากฏเป็นตัวสุดท้ายโดยเฉพาะ และบางตัวจะปรากฏกลางคำเสมอ ซึ่งเป็นลักษณะของอักษรตระกูลเซมิติก ข้อความในข้อเขียนวอยนิชยังมีการใช้คำซ้ำบ่อยกว่าภาษาของยุโรปมาก ซึ่งบางครั้งคำๆเดียวจะปรากฏเรียงกันถึงสามครั้ง และคำที่มีความแตกต่างกันเพียงอักขระตัวเดียวก็ปรากฏบ่อยอย่างผิดปกติ
ในข้อเขียนวอยนิชปรากฏคำซึ่งเขียนในแบบของภาษาละตินเพียงไม่กี่คำเท่านั้น โดยในหน้าสุดท้ายมีข้อความสี่บรรทัดซึ่งเขียนเป็นอักษรละตินที่บิดเบี้ยว ตัวอักษรนี้มีลักษณะคล้ายตัวอักษรในช่วงคริสตร์ศตวรรษที่ 15 แต่คำเหล่านั้นก็ดูจะไม่มีความหมายในภาษาใดๆแผนผังในส่วนดาราศาสตร์ยังมีชื่อเดือนทั้งสิบ(ตั้งแต่มีนาคมถึงธันวาคม)ซึ่งเขียนเป็นภาษาละติน ซึ่งการสะกดนั้นคล้ายกับภาษาฝรั่งเศสโบราณหรือภาษาของคาบสมุทรไอบีเรียทั้งนี้ ยังไม่ปรากฏชัดว่าข้อความละตินเหล่านี้ถูกเขียนเพิ่มเติมในภายหลังหรือไม่
ส่วนชีววิทยาในข้อเขียนวอยนิช |
ภาพประกอบ
ภาพประกอบในหนังสือทำให้เชื่อได้ว่าเนื้อหาของข้อเขียนวอยนิชนี้น่าจะแบ่งออกเป็นหกส่วนซึ่งมีรูปแบบและหัวข้อแตกต่างกันไป โดยแทบทุกหน้าจะมีภาพประกอบยกเว้นเพียงส่วนสุดท้ายซึ่งมีเพียงข้อความ- พฤกษศาสตร์ ในแต่ละหน้าจะมีภาพของพืชหนึ่งหรือสองชนิดและข้อความไม่กี่ย่อหน้า ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับตำราสมุนไพรของยุโรปในสมัยหนึ่ง ภาพวาดนี้บางครั้งจะเป็นภาพเดียวกับส่วนเวชศาสตร์แต่ชัดเจนกว่า
- ดาราศาสตร์ มีแผนผังทรงกลมซึ่งบางภาพจะเป็นลักษณะของระบบดาว ภาพชุดหนึ่งเป็นแผนผังของกลุ่มดาวจักรราศีทั้ง12ซึ่งแสดงเป็นสัญลักษณ์ที่รู้จักกันดี ภาพสตรีในส่วนนี้มักมีลักษณะเปลือยหรือกึ่งเปลือย โดยแต่ละนางจะถือสิ่งที่ดูเหมือนแถบชื่อของกลุ่มดาวหรือมีสายโยงดวงดาวกับแขนข้างหนึ่ง สองหน้าสุดท้ายของส่วนนี้ คือกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำและกลุ่มดาวแพะทะเลได้หายไป ในขณะที่กลุ่มดาวแกะและกลุ่มดาววัว ถูกแบ่งเป็นแผนผังสี่คู่ซึ่งมีดาวสิบห้าดวงในแต่ละภาพ แผนผังบางภาพอยู่ในหน้าซึ่งเป็นแผ่นพับ
- ชีววิทยา ข้อความในส่วนนี้เขียนต่อเนื่องกันอย่างหนาแน่นรวมอยู่กับภาพประกอบซึ่งมักเป็นสตรีเปลือยขนาดเล็กอาบน้ำในสระหรืออ่างซึ่งเชื่อมกันด้วยระบบท่อ ซึ่งอ่างและท่อเหล่านี้บางครั้งจะดูเหมือนอวัยวะอย่างชัดเจน ภาพสตรีนี้บางครั้งก็มีมงกุฏอยู่บนศีรษะด้วย
- จักรวาลวิทยา ภาพประกอบมีลักษณะเป็นแผนผังแต่ไม่มีลักษณะที่ชัดเจนเหมือนในส่วนดาราศาสตร์ ส่วนนี้มีหน้าที่เป็นแผ่นพับซึ่งแผ่นหนึ่งนั้นกางออกได้ถึงหกหน้าและมีแผนที่หรือแผนผังซึ่งมีเกาะเก้าเกาะที่เชื่อมกันด้วยเส้นทาง ปราสาท และสิ่งที่ดูคล้ายกับภูเขาไฟ
- เวชศาสตร์ มีภาพวาดส่วนต่างๆของพืช เช่น รากไม้หรือใบไม้ โดยมีป้ายบอก วัตถุซึ่งดูคล้ายกับโหลยาถูกวาดอยู่ตามขอบ ข้อความในส่วนนี้มีเพียงไม่กี่ย่อหน้า
- สูตร เป็นข้อความย่อหน้าสั้นๆจำนวนมาก ซึ่งแต่ละย่อหน้าจะมีสัญลักษณ์รูปร่างคล้ายดอกไม้หรือดาวอยู่ด้านหน้า
แม้ว่าลักษณะของข้อเขียนวอยนิชนั้นจะคล้ายกับตำรับยา แต่ภาพประกอบของหนังสือก็มีลักษณะที่ประหลาดอยู่มาก แม้ว่าส่วนแรกของข้อเขียนจะค่อนข้างแน่ชัดว่าเกี่ยวข้องกับสมุนไพร แต่สมุนไพรที่ปรากฏส่วนใหญ่นั้นกลับไม่สามารถระบุชนิดได้ พืชบางชนิดที่ปรากฏนั้นดูเหมือนจะเป็นภาพที่นำส่วนต่างๆของพืชต่างชนิดมาปะติดปะต่อกัน การที่ไม่ทราบมาตราส่วนของภาพประกอบนั้นยิ่งทำให้การระบุประเภทของพืชในส่วนนี้ยากขึ้นไปอีก
ส่วนพฤกษศาสตร์ในหนังสือ |
ส่วนชีววิทยาในหนังสือ |
แผ่นพับซึ่งแสดงแผนผังซึ่งมีลักษณะแบบดาราศาสตร์ |
อ่างและท่อที่ปรากฏในส่วนชีววิทยานั้นดูจะเกี่ยวข้องกับการเล่นแร่แปรธาตุซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมากกับการปรุงยา แต่ตำราแปรธาตุในยุคที่คาดว่าประพันธ์ข้อเขียนวอยนิชนั้นมักใช้สัญลักษณ์จำเพาะต่างๆแทนกระบวนการและธาตุที่ใช้ ซึ่งสัญลักษณ์ทั้งหมดนั้นไม่ได้ปรากฏในข้อเขียนวอยนิชเลย
แม้ว่าวิชาดาราศาสตร์จะนับว่ามีความสำคัญอย่างมากในตำราเวชศาสตร์ซึ่งคาดว่าประพันธ์ในช่วงเดียวกับข้อเขียนวอยนิช แต่นอกจากสัญลักษณ์ของจักราศี และแผนผังซึ่งคล้ายกับดาวเคราะห์ที่รู้จักกันดีแล้ว แผนผังที่เหลือก็ไม่ได้ตรงกับสัญลักษณ์ทางดาราศาสตร์ที่เรารู้จักเลย ภาพวาดภาพหนึ่งนั้นเป็นรูปทรงประหลาดที่มีแขนโค้งสี่ข้าง ซึ่งมีผู้ตีความว่าหมายถึงดาราจักรเมื่อมองด้วยกล้องโทรทรรศน์ และยังมีอีกภาพซึ่งดูเหมือนเซลล์เมื่อมองผ่านกล้องจุลทรรศน์ ทว่าความคล้ายคลึงที่ว่านี้ก็ยังไม่ชัดเจนนัก ส่วนกลางของภาพที่คล้ายดาราจักรนั้นดูเหมือนจะเป็นแอ่งน้ำเสียมากกว่า ภาพประกอบบางภาพนั้นมีลักษณะคล้ายกับเม่นทะเล