Breaking News
Loading...
วันพุธที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2557

Info Post
วอยเอจเจอร์  ยานสำรวจอวกาศที่ไปแล้วไปลับเพื่อสำรวจอวกาศชั้นนอก

ยานวอยเอจเจอร์ นั้นมีทั้งหมด 2 ลำครับโดยลำแรกปล่อยออกสู่อวกาศเมื่อ 5 กันยายน ค.ศ. 1977 ส่วนลำที่สองปล่อยออกสู่อวกาศเมื่อ 20 สิงหาคม ค.ศ. 1977 ครับ เรามารู้จักกับทั้งสองลำกันเลยครับ


วอยเอจเจอร์ 1

วอยเอจเจอร์ 1 (อังกฤษ: Voyager 1) เป็นยานสำรวจอวกาศที่นาซา องค์การสำรวจอวกาศของสหรัฐอเมริกา ปล่อยขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 5 กันยายน ค.ศ. 1977 เพื่อศึกษาระบบสุริยะชั้นนอก ปัจจุบัน ยานสื่อสารกับเครือข่ายอวกาศห้วงลึก (Deep Space Network) เพื่อรับคำสั่งประจำและส่งข้อมูลกลับ เมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2013 ยานอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ราว 125 หน่วยดาราศาสตร์จึงเป็นวัตถุที่มนุษย์สร้างขึ้นที่อยู่ไกลจากโลกมากที่สุด

ภารกิจหลักสิ้นสุดเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ค.ศ. 1980 หลังพบระบบดาวพฤหัสบดีใน ค.ศ. 1979 และระบบดาวเสาร์ใน ค.ศ. 1980 มันเป็นยานสำรวจลำแรกที่ให้ภาพละเอียดของดาวเคราะห์ทั้งสอง ตลอดจนดาวบริวาร วอยเอจเจอร์ 1 เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวอยเอจเจอร์ ขณะนี้อยู่ในภารกิจขยาย โดยได้รับคำสั่งให้หาและศึกษาพรมแดนของระบบสุริยะ รวมถึงเข็มขัดไคเปอร์และเฮลิโอสเฟียร์รอบนอก และที่สุดเริ่มสำรวจสารระหว่างดาว เช่นเดียวกับยานน้อง วอยเอจเจอร์ 2

วันที่ 12 กันยายน ค.ศ. 2013 นาซาประกาศว่า วอยเอจเจอร์ 1 ได้ข้ามเฮลิโอพอสและเข้าสู่อวกาศระหว่างดาวเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม ค.ศ. 2012 ทำให้มันเป็นวัตถุที่มนุษย์สร้างขึ้นชิ้นแรกที่ออกนอกระบบสุริยะใน ค.ศ. 2013 ยานสำรวจกำลังเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสัมพัทธ์กับดวงอาทิตย์ 17 กิโลเมตรต่อวินาที[10] ปริมาณพลังงานที่ยานสำรวจเหลืออยู่ลดลงตามเวลา และเครื่องมือทุกชิ้นจะหมดพลังงานเมื่อถึง ค.ศ. 2025

แผ่นจานทองคำ

แผ่นจานทองคำ

ยานวอยเอจเจอร์แต่ละลำบรรทุกแผ่นจานทองคำซึ่งอัดเสียงและภาพของเหตุการณ์ต่างๆ บนโลก ในกรณีที่ยานทั้งสองมีโอกาสพบกับสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาอื่นในระบบดาวเคราะห์แห่งอื่น เนื้อหาในแผ่นจานประกอบด้วยภาพของโลก สิ่งมีชีวิตบนโลก ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์หลากหลายสาขา คำพูดทักทายจากผู้คน (เช่น จากเลขาธิการสหประชาชาติ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และเด็ก ๆ บนโลก) รวมถึงชุดเมดเล่ย์ "เสียงจากโลก" ที่ประกอบด้วยเสียงของวาฬ เสียงเด็กร้อง เสียงคลื่นกระทบฝั่ง และบทเพลงของนักดนตรีมากมาย

"ปัจจุบัน วอยเอจเจอร์1 นั้นออกนอกระบบสุริยะเป็นที่เรียบร้อยแล้ว"

วอยเอจเจอร์ 2


วอยเอจเจอร์ 2 (อังกฤษ: Voyager 2) คือยานสำรวจอวกาศแบบไม่มีคนบังคับที่เดินทางระหว่างดาวเคราะห์ ขึ้นสู่อวกาศเมื่อ 20 สิงหาคม ค.ศ. 1977 เป็นยานสำรวจอวกาศในโครงการวอยเอจเจอร์ ซึ่งมียานพี่อีกลำหนึ่งคือยานวอยเอจเจอร์ 1

ยานวอยเอจเจอร์ 2 ถูกส่งขึ้นไปให้โคจรเป็นเส้นโค้งตามระนาบสุริยวิถี โดยเตรียมการให้สามารถเดินทางเข้าใกล้ดาวยูเรนัสและดาวเนปจูน ด้วยการอาศัยแรงเหวี่ยงจากแรงโน้มถ่วงของดาวเสาร์ซึ่งมันจะต้องเดินทางผ่านในปี ค.ศ. 1981 จากเส้นทางโค้งนี้ทำให้วอยเอจเจอร์ 2 ไม่สามารถมองเห็นดวงจันทร์ไททันในระยะใกล้ได้เหมือนกับยานวอยเอจเจอร์ 1 แต่มันก็ได้เป็นยานเพียงลำเดียวที่ได้เดินทางไปใกล้ดาวยูเรนัสกับดาวเนปจูน ซึ่งเป็นการบรรลุภารกิจของโครงการสำรวจดาวเคราะห์ครั้งใหญ่ (Planetary Grand Tour) เส้นการเดินทางนี้สามารถทำได้เพียงครั้งเดียวในรอบ 176 ปี

จากสถิติ วอยเอจเจอร์ 2 อาจเป็นยานสำรวจอวกาศที่มีประสิทธิผลมากที่สุด ด้วยผลงานคือการไปเยือนดาวเคราะห์ 4 ดวงพร้อมกับดวงจันทร์ของมัน โดยเฉพาะดาวเคราะห์ 2 ใน 4 ดวงนั้นเป็นดาวเคราะห์ที่ยังไม่เคยมีการสำรวจมาก่อน บนยานติดตั้งกล้องถ่ายภาพและเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ขั้นสูง โดยใช้งบประมาณเพียงเสี้ยวเดียวของเงินงบประมาณที่ทุ่มให้กับยานสำรวจอวกาศในชั้นหลัง เช่น ยานกาลิเลโอ ยานแคสสินี-ไฮเกนส์

หลังจากสิ้นสุดภารกิจการสำรวจดาวเคราะห์ชั้นนอกของระบบสุริยะ ยานวอยเอจเจอร์ 2 ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติภารกิจระหว่างดาวฤกษ์ เพื่อค้นหาว่าระบบสุริยะมีหน้าตาเป็นอย่างไรเมื่อมองจากภายนอกเฮลิโอสเฟียร์ เดือนตุลาคม ค.ศ. 2007 วอยเอจเจอร์ 2 ได้เดินทางออกไปยังเฮลิโอชีท ซึ่งเป็นด่านสุดท้ายของเฮลิโอสเฟียร์ก่อนจะออกไปสู่ห้วงอวกาศระหว่างดาว ยานวอยเอจเจอร์ทั้ง 2 ลำได้นำแผ่นดิสค์ทองคำบันทึกภาพและเสียงติดไปบนยานด้วย เผื่อในกรณีที่ว่าลำใดลำหนึ่งอาจได้พบกับสิ่งมีชีวิตอื่นที่มีสติปัญญาในจักรวาล แผ่นดิสค์นี้มีภาพของโลก สิ่งมีชีวิตบนโลก ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ และเสียงบันทึกแบบเมดเล่ย์ของ "เสียงแห่งโลก" เช่นเสียงของวาฬ เสียงเด็กทารก เสียงคลื่นกระทบฝั่ง และบทเพลงอีกจำนวนมาก

26 กันยายน ค.ศ. 2008 วอยเอเจอร์ 2 อยู่ในเขตแดนไกลโพ้นของแถบหินกระจาย ที่ระยะห่างจากดวงอาทิตย์ราว 87.03 AU (13,019 ล้านกิโลเมตร) และเคลื่อนที่ห่างออกไปด้วยความเร็วประมาณ 3.28 AU ต่อปี[4] ซึ่งอยู่ไกลกว่าระยะห่างระหว่างดาวพลูโตกับดวงอาทิตย์มากกว่า 2 เท่า ไกลยิ่งกว่าจุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดของเซดนา

ข้อมูล ณ วันที่ 17 มกราคม ค.ศ. 2009 วอยเอจเจอร์ 2 อยู่ที่เดคลิเนชัน -53.84? และไรต์แอสเซนชัน 19.783 ชม. ในบริเวณกลุ่มดาวกล้องโทรทรรศน์เมื่อมองจากโลก ยานวอยเอจเจอร์ 2 ไม่ได้ตั้งเป้าหมายมุ่งไปยังดาวฤกษ์ดวงใดเป็นการเฉพาะ แต่มันจะเดินทางผ่านดาวซิริอุสที่ระยะห่างประมาณ 1.32 พาร์เซกในอีก 296,000 ปี ยานจะยังคงส่งสัญญาณกลับมายังโลกอย่างน้อยจนถึงปี ค.ศ. 2025 ซึ่งจะเป็นเวลากว่า 48 ปีหลังจากขึ้นสู่อวกาศ

อ้างอิง : http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A7%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%88%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C_1
อ้างอิง : http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A7%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%88%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C_2