พบ 'มหาสมุทรใต้พิภพ' บนดวงจันทร์ดาวเสาร์
ยานอวกาศของนาซาค้นพบมหาสมุทรใต้ดิน บนดวงจันทร์เอ็นซีลาดัสของดาวเสาร์ มีสภาพเอื้อต่อสิ่งมีชีวิต หลังเคยเจอแหล่งน้ำแบบเดียวกันบนดาวบริวารหลายดวงในระบบสุริยะ
รายงานในวารสาร Science บอกว่า ยานแคสซินีซึ่งโคจรรอบดาวเสาร์ ตรวจวัดแรงโน้มถ่วงของเอ็นซีลาดัส พบว่า ลึกลงไปใต้พื้นผิวทางซีกใต้ของดวงจันทร์ของดาวเสาร์ดวงนี้ มีมหาสมุทรซุกซ่อนอยู่ คาดว่ามีขนาดเท่าทะเลสาบซูพีเรียร์
เดวิด สตีเฟนสัน นักวิทยาศาสตร์ด้านดาวเคราะห์ แห่งสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย เปิดเผยว่า แบบจำลองคอมพิวเตอร์ บ่งชี้ว่า มหาสมุทรที่ว่านี้อยู่ระหว่างแกนในที่เป็นหิน กับพื้นผิวที่ปกคลุมด้วยน้ำแข็ง
คาดว่ามหาสมุทรนี้ก่อตัวและดำรงอยู่ได้เพราะความร้อนที่เกิดจากแรงน้ำขึ้นน้ำลง อันเกิดจากแรงโน้มถ่วงของดาวเสาร์และบรรดาดวงจันทร์ดวงต่างๆ
แบบจำลองบ่งบอกด้วยว่า มหาสมุทรดังกล่าวมีความลึก 10 ก.ม. และปกคลุมด้วยน้ำแข็งกว้าง 30-40 ก.ม.
ก่อนหน้านี้ ยานแคสซินีค้นพบพวยน้ำพุ่งขึ้นจากแหล่งความร้อนทางซีกใต้ของเอ็นซีลาดัส ผลวิเคราะห์ระบุว่า น้ำที่พวยพุ่งขึ้นมานี้มีแร่ธาตุและโมเลกุลของสารอินทรีย์
โจนาธาน ลูนีน แห่งมหาวิทยาลัยคอร์แนล บอกในการแถลงข่าวเมื่อวันพุธ ว่า วี่แววของการมีน้ำซึ่งมีแร่ธาตุเจือปนเช่นนี้ เพิ่มความเป็นไปได้ที่เอ็นซีลาดัสจะมีสภาพทางเคมีที่เอื้อต่อสิ่งมีชีวิต ดวงจันทร์ดวงนี้จึงเหมาะที่จะสำรวจหาสิ่งมีชีวิต
เอ็นซีดาลัสอยู่ห่างจากโลก 1,300 ล้านกิโลเมตร มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 500 ก.ม. ก่อนหน้านี้ นักวิทยาศาสตร์พบว่า ดวงจันทร์ไททันของดาวเสาร์ และดวงจันทร์ยุโรปากับแกนีมีดของดาวพฤหัสบดี อาจมีมหาสมุทร โดยมหาสมุทรของเอ็นซีลาดัสและยุโรปานั้นมีการสัมผัสกับชั้นหิน.
อ้างอิง : http://news.voicetv.co.th/global/101975.html