Breaking News
Loading...
วันพุธที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2557

Info Post

วอยเอจเจอร์ 1 วัตถุฝีมือมนุษย์ชิ้นแรกที่เดินทางออกจากระบบสุริยะจักรวาล



สาระน่ารู้เกี่ยวกับยานสำรวจระบบสุริยะ "วอยเอเจอร์ 1" ซึ่งสร้างประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญให้แก่มวลมนุษยชาติ ด้วยการเป็นวัตถุจากโลกชิ้นแรก ที่สามารถเดินทางออกนอกระบบสุริยะจักรวาล

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 15 ก.ย. ว่าเมื่อ 36 ปีที่แล้ว องค์การบริหารการบินแห่งชาติ ( นาซา ) ของสหรัฐ ปล่อยยานสำรวจวอยเอเจอร์ 1 ออกเดินทางไปสำรวจความเร้นลับและเวิ้งว้างของระบบสุริยะ โดยกำหนดระยะเวลาเริ่มต้นเอาไว้เพียง 5 ปี  แต่ยานยังคงเดินทางต่อไปได้ จนกระทั่งถึงเมื่อวันที่ 12 ก.ย. ที่ผ่านมา ยานวอยเอเจอร์ 1 สร้างประวัติศาสตร์ครั้งยิ่งใหญ่ให้แก่มวลมนุษยชาติ ด้วยการเป็นสิ่งประดิษฐ์โดยมนุษย์ชิ้นแรก ที่สามารถเดินทางพ้นขอบนอกสุดของระบบสุริยะอย่างเป็นทางการ แล้วเดินทางต่อไปสำรวจกาแล็กซี่อื่นได้สำเร็จ  ซึ่งนี่คือเกร็ดน่ารู้โดยสังเขปเกี่ยวกับยานวอยเอเจอร์ 1 และยานพี่น้อง คือ "วอยเอเจอร์ 2"

จุดเริ่มต้นของเดินทางอันเด็ดเดี่ยว
ยานวอยเอเจอร์ 2 ออกเดินทางก่อนเมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2520 จากฐานปล่อยจรวดในศูนย์อวกาศเคนเนดี บนแหลมคันนาเวอรัล ในรัฐฟลอริดา ด้วยจรวด “ไททัน-เซนทอร์”
ยานวอยเอเจอร์ 1 ออกเดินทางเมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2520 จากฐานปล่อยจรวดในศูนย์อวกาศเคนเนดี บนแหลมคันนาเวอรัล ในรัฐฟลอริดา ด้วยจรวด “ไททัน-เซนทอร์”  เช่นกัน

การเดินทางครั้งยิ่งใหญ่ในห้วงจักรวาล
ยานวอยเอเจอร์ 1 และ 2 เดินทางไปร่วมกันไขปริศนาและค้นหาความจริงเกี่ยวกับดาวเคราะห์ที่โคจรอยู่บริเวณชั้นนอกของระบบสุริยะ ไม่ว่าจะเป็นดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัส และดาวเนปจูน ตลอดจนดวงจันทร์บริวารของดาวเคราะห์ทั้งหมดนี้รวม 48 ดวง และความลับเกี่ยวกับวงแหวนของดาวเสาร์ และสนามแม่เหล็กรอบดวงดาว

ยานวอยเอเจอร์ 1 เดินทางเข้าใกล้ดาวพฤหัสบดีที่สุดเมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2522 ส่วนของยานวอยเอเจอร์ 2 คือวันที่ 1 ก.ค. 2522

ยานวอยเอเจอร์ 1 เดินทางเข้าใกล้ดาวเสาร์ที่สุดเมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2523 ส่วนของยานวอยเอเจอร์ 2 คือวันที่ 25 ส.ค. 2524

หลังจากนั้นยานวอยเจอร์ 1 เบนเส้นทางมุ่งหน้าสู่ขอบระบบสุริยะ ปล่อยให้ยานวอยเอเจอร์ 2 สำรวจดาวเคราะห์ที่เหลือต่อไป ซึ่งเดินทางเข้าใกล้ดาวยูเรนัสที่สุดเมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2529 และดาวเนปจูนเมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2532

ยานสำรวจที่เดินทางได้ไกลที่สุดในประวัติศาสตร์
ยานวอยเอเจอร์ 1 และ 2 เป็นยานสำรวจระบบสุริยะลำดับที่ 3 และ 4 ของโลก ที่สามารถเดินทางผ่านดาวเคราะห์ในระบบสุริยะได้ครบทุกดวง ต่อจากยาน “ไพโอเนียร์ 10” และ “ไพโอเนียร์ 11” แต่ยานวอยเอเจอร์ 1 ทำลายสถิติระยะทางของยานไพโอเนียร์ 10 เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2531

แผ่นบันทึกภาพและเสียงสีทอง ( โกลเด้น เรคคอร์ด )
นาซาบรรจุแผ่นโกลเด้น เรคคอร์ด ขนาด 12 นิ้ว เอาไว้ภายในยานวอยเอเจอร์ทั้ง 2 ลำ ซึ่งบันทึกเสียงธรรมชาติ อาทิ เสียงสัตว์ เสียงจากวัตถุที่มนุษย์สร้างขึ้น อาทิ เสียงหวูดรถไฟ และเสียงทักทายใน 55 ภาษาของมนุษย์ ที่รวมถึงเสียงของประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ ผู้นำสหรัฐในช่วงที่ยานวอยเอเจอร์ออกเดินทาง รวมถึงภาพสถานที่สำคัญ และธรรมชาติบนโลกอีก 115 ภาพ ซึ่งนาซาเชื่อว่า ในอนาคตอาจมีสิ่งมีชีวิตจากดาวดวงอื่นมาพบยานวอยเอเจอร์ แล้วนำข้อมูลจากโกลเด้น เรคคอร์ดไปแปลงเป็นภาษาของตัวเอง


สถานะปัจจุบันของยานวอยเอเจอร์
ยานวอยเอเจอร์ 1 เคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 3.6 เอยูต่อปี ( 1 เอยู คือระยะทางระหว่างโลกจากดวงอาทิตย์ ประมาณ 150 ล้านกิโลเมตร ) ขณะที่ยานวอยเอเจอร์ 2 เคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 3.3 เอยูต่อปี
ทั้งนี้ สถิติของนาซาเมื่อวันที่ 15 ก.ย. ระบุว่า ยานวอยเอเจอร์ 1 อยู่ห่างจากโลกราว 18,780 ล้านกิโลเมตร ส่วนยานวอยเอเจอร์ 2 อยู่ห่างจากโลกราว 15,312 ล้านกิโลเมตร

กำแพงระบบสุริยะ
ยานวอยเอเจอร์ 1 เดินทางผ่านกำแพงระบบสุริยะ เมื่อเดือนธ.ค. 2547 ขณะที่ยานวอยเอเจอร์ 2 เดินทางผ่านบริเวณเดียวกันนี้ เมื่อเดือนส.ค. 2550

เฮลิโอสเฟียร์ – ขอบเขตระบบสุริยะ
เริ่มมีกระแสข่าวออกมาตั้งแต่ช่วงเดือนส.ค. ว่ายานวอยเอเจอร์ 1 เดินทางพ้นขอบเขตระบบสุริยะมาตั้งแต่ ส.ค. แต่นาซายืนยันอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 12 ก.ย. ที่ผ่านมา หลังผลวิเคราะห์การสั่นสะเทือนของคลื่นและความหนาแน่นในพลาสมา บ่งชี้ชัดเจนว่ายานวอยเอเจอร์ 1 เดินทางเข้าสู่อาณาเขตมวลสารระหว่างดวงดาว หรือ “อินเตอร์สเตลลาร์ มีเดียม” อันเคว้งคว้างแล้ว และนับจากนี้เป็นต้นไป ยานวอยเอเจอร์ 1 จะเดินทางต่อไปในทิศทางใด หรือจะพบกับสิ่งใดบ้าง เป็นเรื่องที่ไม่มีใครสามารถคาดเดาได้อีกต่อไป อย่างไรก็ตาม เชื้อเพลิงของยานวอยเอเจอร์ 1 ซึ่งผลิตจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่อาศัยแร่พลูโตเนียมในการสร้างพลังงาน เพียงพอสำหรับการใช้งานได้เต็มที่ถึงปี 2568



https://www.youtube.com/watch?v=LIAZWb9_si4

https://www.youtube.com/watch?v=L4hf8HyP0LI

https://www.youtube.com/watch?v=80Ngl2RY8sA


https://www.youtube.com/watch?v=uR4xB83h76k

อ้างอิง : http://www.dailynews.co.th/Content/foreign/155657/%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%99%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A+%E2%80%9C%E0%B8%A7%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C+1%E2%80%9D+%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%96%E0%B8%B8%E0%B8%9D%E0%B8%B5%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%A9%E0%B8%A2%E0%B9%8C%E0%B8%8A%E0%B8%B4%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%96%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B0%E0%B8%A5%E0%B8%B8%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A5